ประวัติสำนักศิลปะและวัฒนธรรม

                 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริม สนับสนุน ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ตั้งอยู่เลขที่ 80 อาคารบานบุรี ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473 ในสมัยขุนประสงค์จรรยาเป็นศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคามในฐานะโรงเรียนประถมวิสามัญเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 และฝึกหัดครูกสิกรรมชั้นต่ำจนถึง พ.ศ. 2478 หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2479 มีการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมวิสามัญโดยเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และเปิดสอนชั้นฝึกหัดครูประกาศนียบัตรครูมูลประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ตามลำดับต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ได้ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูมหาสารคามเป็นวิทยาลัยครูมหาสารคามขึ้นโดยภารกิจของวิทยาลัยครูมหาสารคามตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูพุทธศักราช 2513 ที่จะต้องอนุรักษ์วัฒนธรรมจึงได้แต่งตั้งศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมวิทยาลัยครูมหาสารคามขึ้นโดยมีประวัติ ดังนี้

                   พ.ศ. 2524 ได้ผนวกงานศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม

                   พ.ศ. 2527 จัดตั้งเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูมหาสารคามมีฐานะเทียบเท่าคณะใช้พื้นที่ชั้น 3 อาคาร 8 ทุกห้องเป็นสำนักงานและห้องจัดนิทรรศการ

                   พ.ศ. 2529 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแผนพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมโดยให้เร่งจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นและได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นประจำจังหวัดซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น

                   พ.ศ. 2533 ได้ปรับปรุงอาคารบานบุรีซึ่งเติมเป็นอาคารไม้ที่ยังเหลืออยู่เป็นอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตมีห้องประชุม 1 ห้องห้องนิทรรศการ 1 ห้องห้องสำนักงาน 2 ห้องและได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักศิลปวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏมหาสารคาม 2538

                   พ.ศ. 2548 ได้เปลี่ยนชื่อจากสำนักศิลปวัฒนธรรมเป็นสำนักศิลปะและวัฒนธรรมตามโครงสร้างการบริหารงานใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

                   พ.ศ. 2550 ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากข้อความเดิมที่ว่า “เป็นผู้นำทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล” เปลี่ยนเป็น “เป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล”

                   พ.ศ. 2557 ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากข้อความเดิมที่ว่า “เป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล” เปลี่ยนเป็น “เป็นหน่วยงานแห่งการเรียนรู้ ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดี เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาค เน้นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นต้น พ.ศ. 2560 ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากข้อความเดิมที่ว่า “เป็นหน่วยงานแห่งการเรียนรู้ ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดี เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาค เน้นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ศิลปะและวัฒนธรรม ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เปลี่ยนเป็น “เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เรียนรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์ พื้นฟู เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมสู่สากล รวมถึงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในท้องถิ่น”